วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความปลาบปลื้มของพระอาจารย์ ( ประการที่ ๓ )

นับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เข้ามาเป็นเจ้าสำนักที่พักสงฆ์พญากำพุช ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ เริ่มต้นปีนั้น ข้าพเจ้าได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมประจำปี โดยให้บรรดาพระภิกษุได้มีโอกาสประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาสกรรม บรรดาอุบาสก อุบาสิกาได้มีโอกาสบวชเนกขัมมะ ปฎิบัติกันอย่างเข้มข้น นับจากปีนั้นเป็นต้นมา มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมประจำปีของสำนักสงฆ์พญากำพุชเกินกว่า ๑๐๐ รูป/คน ในทุกๆปี ( ปีนี้ ๒๕๕๕ เป็นปีที่ ๑๕ ของการจัด )
  จากการที่ข้าพเจ้า ได้จัดให้มีการปฏิบัติธรรมประจำปีอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี ทำให้มีสหธรรมิกหลายท่าน มีทั้งเจ้าอาวาส เจ้าสำนัก ได้มานิมนต์ข้าพเจ้าให้ไปเป็นที่ปรึกษา และให้ข้าพเจ้าช่วยจัดการเรื่องการปฏิบัติธรรมประจำปีขึ้น ณ.วัดและสำนักของท่านเหล่านั้น ซึ่งพอจะยกเป็นตัวอย่างดังนี้คือ.
 ๑. ที่พักสงฆ์พญากำพุช บ้านกำพุช ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
 ๒. วัดทุ่งกร่าง บ้านทุ่งกร่าง ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
 ๓. วัดป่าบ้านพราน ต.แจนแวน อ.สังขะ จ.สุรีนทร์
 ๔. ป่าช้าบ้านคูขาด ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์
และยังมีกิจ ที่นิมนต์ให้ไปเป็นที่ปรึกษาแบบเฉพาะกิจอีกจำนวนมากมายหลายแห่งผลจากการที่ข้าพเจ้าได้ดำเนินงานเพื่อพระพุทะศาสนาอย่างเข้มแข็ง และจริงจัง ทำให้ได้เห็นความปิติและชื่นอกชื่นใจของผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมทั้งหลาย และนี่คือความ " ปลื้ม" อย่างที่ ๓ ของข้าพเจ้า

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความปลาบปลื้มของพระอาจารย์ ( ประการที่ ๒ )



ความปลาบปลื้มของพระอาจารย์ ( ประการที่ ๒ )

ได้โปรดโยมแม่ให้ได้ทำบุญใหญ่ ถวายที่ดินทำการสร้างวัด โยมแม่ของข้าพเจ้าก็เหมือนชาวบ้านทั่วๆไป เป็นเกษตรกร ถึงแม้จะใจบุญแต่ก็ยังหาจับสัตว์เล็กๆเช่น กบ เขียด แมลงต่างๆมาทำเป็นอาหาร และนานๆจะได้ไปฟังธรรมที่วัดสักครั้ง ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ท่านมีอายุมากแล้วน่าจะงดเว้นการออกหาจับสัตว์ต่างๆ แม้ว่าจะเป็นอาหาร แต่ก็เป็นการเบียดเบียนซึ่งเป็นการทำบาป และควรจะหาโอกาสเข้าวัดฟังธรรมให้มากขึ้น ควรจะเป็นการดี
  แต่การเป็นแม่เป็นลูกกัน ครั้งจะพูดจาแบบสอนกันตรงๆก็ไม่ค่อยจะสะดวก ทำให้ข้าพเจ้าอึดอัดอยู่นาน
 โยมแม่ของข้าพเจ้า ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ทำไร่ไถนามาตลอดชีวิต ซึ่งทำให้ท่านพอจะมีทรัพย์อยู่จำนวนไม่น้อย และท่านเองก็เคยออกปากแบ่งปันให้ลูกทุกๆคนเอาไว้ และที่หมู่บ้านพราน ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน มีเพียงที่พักสงฆ์เล็กๆ ที่สร้างอยู่ในเขตป่าช้าของหมู่บ้าน อีกทั้งที่ดินก็คับแคบ ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ และขยับขยายไม่ได้ ทำให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในแต่ละปีมีน้อย ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ญาติโยมไม่ค่อยจะทำบุญกัน ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมโยมแม่ และพักอยู่ที่พักสงฆ์แห่งนี้ ข้าพเจ้าจะนึกถึงเรื่องเหล่านี้เสมอ เนื่องจากที่ดินโยมแม่มีเขตติดต่อกับที่ดินของที่พักสงฆ์บ้านพรานแห่งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดขึ้นมา
 เนื่องจาก การที่ท่านเคยออกปากยกทรัพย์สมบัติให้บรรดาลูกๆทุกคนไว้แล้ว วันหนึ่งข้าพเจ้าจึงออกปากขอทรัพย์สมบัติในส่วนที่ควรจะเป็นของข้าพเจ้าจากท่าน คงจะเป็นเพราะท่านคิดว่าข้าพเจ้าจะลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพ ท่านจึงยกที่ดินส่วนของข้าพเจ้าจำนวน ๖ไร่ให้ เมื่อได้รับฉันทานุมัติแล้ว ข้าพเจ้าใด้บอกบุญมหาชนทำการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นกลางทุ่งนาแห่งนั้น และเมื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าได้ขอให้โยมแม่ยกที่ดิน ที่จะให้แก่ข้าพเจ้าถวายไว้ในบวรพุทธศาสนา และท่านก็ยินดี ในขณะเดียวกัน น้องชายของข้าพเจ้า ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุ และเป็นเจ้าสำนักของที่พักสงฆ์บ้านพรานแห่งนั้นก็เห็นดีด้วย ท่านจึงขอให้โยมแม่ยกที่ดินในส่วนของท่านสมทบกัน แล้วถวายที่ดินส่วนนั้น ให้เป็นผืนดินของพระพุทธศาสนา
 และวันหนึ่งหลังจากนั้น ครั้งเมื่อข้าพเจ้านั่งทำสมาธิอยู่ใกล้ๆองค์พระใหญ่ตอนใกล้รุ่ง ข้าพเจ้าได้ยินเสียงคนกวาดใบไม้อยู่ใกล้ๆ เมื่อลืมตาขึ้นก็มองเห็นโยมแม่ของข้าพเจ้าทำกิจนั้นอยู่ ทำให้ข้าพเจ้าแน่ใจแล้วว่า บัดนี้โยมแม่ของข้าพเจ้าเข้าถึงพระศาสนาแล้ว เวลานั้นทำให้ข้าพเจ้า " ปลื้ม" ใจ ทำให้น้ำตาแห่งความปิติไหลออกมาโดยมิรู้ตัว
 จากที่พักสงฆ์เล็กๆแห่งนั้น บัดนี้ได้กว้างขวางสะดวก คึกคัก มีชีวิตชีวา ญาติโยม ศาสนิกชนจำนวนมากมายหลั่งไหลกันมาทำบุญ ไหว้พระ ฟังธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้คือ " ความปลื้ม" อย่างที่ ๒ ของข้าพเจ้า

ความปลาบปลื้มของพระอาจารย์ ( ประการที่ ๑ )

คัดลอกมาจากหนังสือ " ที่พักสงฆ์พญากำพุช" ความว่า
 ความปลื้มของพระอาจารย์ แจ้ง จกฺกธมฺโม ความ " ปลื้ม" อย่างที่ ๑ คือ การได้บวช
  หลังจากที่ข้าพเจ้าได้จบการศึกษาชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนบ้านตะโนน ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ มีศรัทธาและใคร่จะศึกษาในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ.วัดเทพมงคล บ้านตะโนน ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี ท่านพระครูภาวนาประยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระแนน ติสฺสวํโส เป็นพระกรรมวาจาจารย์         พระมก สุจิณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
  การได้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ทำให้ข้าพเจ้า ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง มีโอกาสได้รู้จักกฏแห่งกรรม ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ได้สั่งสอนญาติโยม ให้เข้าใจในคำสั่งสอนของพระศาสนา และมีโอกาสเป็นเจ้าสำนักของที่พักสงฆ์พญากำพุช ทำให้ได้พัฒนาศาสนสถาน สร้างความเจริญให้ เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจอย่างสะดวก ของบรรดาศาสนิกชนทั้งหลาย เพราะอย่างนี้ การบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จึงเป็นความ " ปลื้ม" อย่างมากเป็นประการแรก

ศูนย์รวมใจ และศรัทธา

วัดพญากำพุช แม้ว่าจะเป็นศาสนสถานขนาดเล็ก อีกทั้งยังอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แต่ก็เป็นจุดศูนย์รวมใจ , แรงศรัทธา และพลังความสามัคคี ของชาวบ้านพญากำพุชและในเขตอำเภอโป่งน้ำร้อน รวมถึงพื้นที่ทั้งใกล้และไกลที่รู้ข่าว ต่างก็หลั่งไหลมาช่วยกันออกทั้งกำลังแรงกาย , แรงใจ , กำลังทรัพย์ , รวมถึงอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยเพื่อแจกจ่ายให้งานแต่ละงาน ในช่วงเวลานั้นๆสำเร็จลุล่วง อีกทั้งรวมถึงการสร้างถาวรวัตถุไว้ใช้งานในศาสนพิธีต่างๆ อีกทั้งกำลังศัทธาของสาธุชนยังร่วมทำบุญปฏิบัติธรรมในวันพระ และวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นประจำมิได้ขาด
 จึงนับเป็นการสืบสานให้พระพุทธศาสนาให้ยืนยงสืบไป แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า ๒,๖๐๐ ปีแล้วก็ตาม
 พระอาจารย์แจ้ง  จกฺกธมฺโม นับว่าท่านเป็นพระผู้มีสัมมาปฏิบัติ และเป็นพระผู้เสียสละอย่างแท้จริง ยอมจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ในที่ห่างไกล อุทิศตนเป็นพระผู้นำ ทั้งในการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดา พระพิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และเหล่าศรัทธาญาติโยมอย่างไม่ย่อท้อ

บนเส้นทางธรรม และการปฏิบัติโดยชอบ

 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อพระอาจารย์แจ้ง จกฺกธมฺโม ได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าที่พักสงฆ์พญากำพุชแล้ว พระอาจารย์แจ้ง จกฺกธมฺโม ได้ดำริให้มีการจัดงานปฏิบัติธรรม บวชเนกขัมมะ และปริวาสกรรมเป็นประจำทุกๆปี โดยมีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ข้าราชการและบุคคลทั่วไป เข้าร่วมปฏิบัติเป็นจำนวนมาก
 อีกทั้งยังจัดให้มีการทำบุญในวันสำคัญต่างๆ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธ เช่น.
 - วันส่งท้ายปีเก่า / ต้อนรับปีใหม่
 - วันวิสาขบูชา
 - วันมาฆะบูชา
 - วันสงกรานต์ ( ปีใหม่ไทย )
 - วันเข้าพรรษา
 - วันตักบาตรเทโว ( วันออกพรรษา )
 - วันเฉลิมพระชนพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ( วันแม่ )
 - วันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ( วันพ่อ )
และ ประเพณีลอยกระทง
 พร้อมทั้งได้จัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์ เจริญสมาธิภาวนา และบรรยายธรรมมะแก่สาธุชนผู้สนใจ ในทุกวันพระ ตลอดปี

พระอาจารย์แจง จกฺกธมฺโม กับวัดพญากำพุช

วัดพญากำพุช มีที่ตั้งพื้นที่เป็นเนิน มีความลาดเอียงไม่สะดวกต่อการใช่งาน ต่อมาเมื่อพระอาจารย์แจ้ง จกฺกธมฺโม ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าสำนัก จึงได้พาบรรดาศรัทธาญาติโยม ช่วยกันพัฒนาปรับแต่งพื้นที่ให้ราบเรียบ ใช้งานได้สะดวก และร่วมกันปลูกต้นไม้ จนบริเวณที่พักสงฆ์ ( ในสมันนั้น ) เริ่มมีความร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม อีกทั้งยังเป็นการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติถวายในหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พร้อมทั้งได้จัดสร้างเสนาสนะต่างๆขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติธรรม และการอยู่จำพรรษาของบรรดาพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และศรัทธาญาติโยม ที่เดินทางมาจากแดนไกลเพื่อมาร่วมบุญ โดยได้จัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆดังนี้คือ:
 ๑. ศาลาเอนกประสงค์ ไว้สำหรับประกอบศาสนพิธี จำนวน ๑ หลัง
 ๒. วิหารหลวงปู่ทวด และสมเด็จฯโต จำนวน ๑ หลัง
 ๓. กุฏิสงฆ์ จำนวน ๑๐ หลัง
 ๔. เรือนรับรองสำหรับผู้เข้าปฏิบัติธรรม จำนวน ๑ หลัง
 ๕. โรงครัว สำหรับประกอบอาหารเลี้ยงผู้เข้าปฏิบัติธรรม จำนวน ๑ หลัง
 ๖. ห้องน้ำ
 - ขนาด ๘ ห้อง จำนวน ๑ หลัง
 - ขนาด ๖ ห้อง จำนวน ๑ หลัง
 - ขนาด ๓ ห้อง จำนวน ๑ หลัง
 และในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์แจง จกฺกธมฺโม ได้ดำริให้จัดสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นอีก จำนวน ๒ องค์ เพื่อเป็นพุทธบูชา และสักการะบูชาของบรรดาสาธุชนทั้งหลาย
 องค์แรกชื่อว่า หลวงพ่อชับมงคล สร้างเมื่อวันที่ ๙ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๐
 องค์ที่ ๒ ชื่อว่า หลวงพ่อเมตตา สร้างเมื่อวัยที่ ๑๔ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๑
  ด้วยแรงศรัทธาของมหาชนร่วมกัน โดยสร้างแต่ละองค์ สร้างเสร็จภายวันวันเดียว

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปริวาสกรรมประจำปี

ณ.ศูนย์ปฏิบัติธรรมป่าช้าบ้านคูขาด ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ระหว่างวันที่ ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๖ ทุกปี ดำเนินงานโดย พระอาจารย์แจ้ง จกฺกธมฺโม พระอาจารย์บุญมี อารยธมฺโม ร.ก.เจ้าอาวาส พร้อมคณะสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิแดนอริยธรรม ( พระดีที่ไม่ดัง ) โทร.084-5403974 ( สอบถามเส้นทาง )

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประวัติพระอาจารย์แจง จกฺกธมฺโม

พระอาจารย์แจง จกฺกธมฺโม มีนามเดิมว่า แจง  เดือนขาว เกิดบ้านเลขที่ ๕๙ บ้านพราน หมู่ ๔ ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
โยมบิดาชื่อ นายพา เดือนขาว โยมมารดาชื่อ นางเดียน เดือนขาว มีพี่น้องรวม ๗ คน คือ
 ๑. นางตุมา เดือนขาว
 ๒. นางปรางค์ ทองอิม
 ๓. นางแพง น้ำเต้าทอง
 ๔. นายแจง เดือนขาว ( พระอาจารย์แจง จกฺกธมฺโม )
 ๕. นางพิขรา เดือนขาว
 ๖. นายบุญทำ เดือนขาว ( พระบุญทำ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านพราน หมู่ ๔ ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ )
 ๗. นางสงำ วุฒิยา
การศึกษาทางโลก
 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านตะโนน ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕
 อุปสมบทเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ณ.วัดเทพมงคล บ้านตะโนน ตำบลแจนแวน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีท่านพระครูภาวนาประยุต เป็นพระอุปชฌาย์ พระแนน ติสิสวํโส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมก สุจิณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
 ได้สังกัดอยู่ที่วัดเทพมงคลระยะเวลาหนึ่ง โดยศึกษาพระธรรมวินัย จบนักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ.๒๕๒๕ จบนักธรรมชั้นโทในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และจบนักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ.๒๕๒๗
 ต่อมาได้ย้ายสังกัดมาอยู่ที่วัดทับไทร บ้านทับไทร ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และได้จาริกมาพำนักอยู่ที่พักสงฆ์พญากำพุช ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

เริ่มต้นกับวัดพญากำพุช

เริ่มต้นกับ วัดพญากำพุช ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบุลโป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด ๗.๕ ไร่ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านพญากำพุช ทิศเหนือจรดป่าของทหาร ทิศตะวันออกติดกับที่ดินของนาย สมาน ทิศใต้จรดกับที่ดินของหมู่บ้านพญากำพุช ทิศตะวันตกจรดกับที่ดินของครูแมว
ได้จัดสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ( ตามคำบอกเล่า ) โดยศรัทธาของชาวบ้านพญากำพุช เดิมที่วัดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าสำนัก ( ในขณะนั้น ) เห็นว่า สถานที่เดิมคับแคบ ไม่สะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ จึงพร้อมกันย้ายมาตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านจนถึงทุกวันนี้
ที่พักสงฆ์พญากำพุชเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้ง มีเจ้าสำนักชื่ออย่างไรไม่ปรากฏ แต่ชาวบ้านพญากำพุชเรียกท่านว่า " หลวงพ่อดำปากแดง" ท่านได้ก่อสร้างและพัฒนาที่พักสงฆ์แห่งนี้มาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๓ แล้วท่านก็ได้จาริกจากไป
เจ้าสำนักองค์ที่ ๒ ชื่อหลวงพ่อ " ใย" ท่านจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์พญากำพุชหลายพรรษา และได้ย้านไปจำพรรษาแห่งอื่นในปี พ.ศ.๒๕๓๖
เจ้าสำนักองค์ที่ ๓ ชื่อ " พระอาจารย์พจน์" ท่านมีชื่อเสียงทางด้านเวทมนต์คาถา ท่านได้จำพรรษาอยู่ถึงปี พ.ศ.๒๕๓๘ ก็มีเหตุจำเป็นที่จะต้องลาสิกขา
ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจนิมนต์พระอาจารย์ " โกสุม ปญญาวุโธ" มาเป็นเจ้าสำนักองค์ที่ ๔ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ท่านก็ได้ลาสิกขาบทไป
ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อเจ้าสำนักพญากำพุชลาสิกขาออกไปแล้ว ที่พักสงฆ์ญากำพุชก็ว่างจากเจ้าสำนัก และในปีนั้น มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง มีศิลจริยาวัตรงกงาม น่าเคารพเลื่อมใส มาพำนักอยู่ ณ.วักทับไทร บ้านทับไทร ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ได้จาริกท่องเที่ยวมานังที่พักสงฆ์พญากำพุชแห่งนี้ ได้เล็งเห็นสถานที่สัปปายะ เพียบพร้อมบริบูรณ์ ท่านจึงได้ตัดสินใจพำนักอยู่
ต่อมาเมื่อท่านได้พิจารณาเห็นแรงศรัทธาและความตั้งใจของประชาชนชาวบ้านพญากำพุช ประกอบกับที่พักสงฆ์แห่งนี้ ไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ท่านจึงตัดสินใจพำนักอยู่อย่างถาวร เพื่อสร้างบุญบารมี ประกอบกับจิตท่านที่มีความเมตตาต่อชาวบ้าน นามของท่านคือ " พระอาจารย์ แจ้ง จกฺกธมฺโม" และท่านก็ได้จำพรรษาอยู๋ ณ.ที่พักสงฆ์พญากำพุช มาจนถึงปัจจุบัน